Last updated: 14 มี.ค. 2566 | 7669 จำนวนผู้เข้าชม |
ถ้ามีเวลาวันหยุดไม่มาก แต่อยากไปเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศ ไปไหว้พระ หาของกิน เดินย่านเก่าแก่
ลองนั่งรถไฟไปเที่ยวมหาชัยและท่าฉลอมดูมั้ยครับ ครึ่งวันเอาอยู่แถมเที่ยวแบบครบๆ
เริ่มต้นการเดินทางที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ถ้ามาโดยรถไฟฟ้า BTS สามารถลงสถานีวงเวียนใหญ่แล้วเดินต่ออีกประมาณ 700 เมตรหรืออาศัย
พี่วินแถ้วนั้นต่อมาก็ตามสะดวก ถ้ายังไม่ได้ทานข้าวเช้ามาที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่มีให้เลือกเยอะแยะเลยครับ ทานข้าวเสร็จไปซื้อตั๋วรถไฟราคาคนละ
10 บาทแล้วรอขึ้นรถได้เลย ตั๋วไม่ระบุที่นั่งเลือกนั่งได้ตามชอบ
บรรยากาศบนรถไฟแบบหวานเย็น นั่งตอนเช้าๆอากาศเย็นสบาย รถไฟพาผู้โดยสารผ่านย่านชุมชน ผ่านป่า ผ่านสวน พอเข้าเขตมหาชัยกลิ่นปลาก็
ลอยเข้าจมูกมาต้อนรับ
สถานีรถไฟปลายทางมหาชัย สถานีเล็กๆที่เต็มไปด้วยร้านค้าสถานีแทบจะอยู่กลางตลาดสด บรรยากาศคึกคักมาก รถไปสายมหาชัย วงเวียนใหญ่
เป็นสายที่พ่อค้าแม่ค้าจากกรุงเทพอาศัยมาซื้อของสดจากมหาชัยไปขาย ถ้านั่งรถเที่ยวเช้าจากมหาชัยจะเห็นบรรยากาศการขนของสดเป็นตะกร้าๆขึ้น
รถไฟ
ตลาดมหาชัยขึ้นชื่อเรื่องอาหารทะเล ทั้งสดและแห้ง เพียงแค่ออกจากสถานีมาก็เดินเลือกซื้อได้เลย แต่เรายังไม่ซื้ออะไรตอนนี้ เพราะยังต้องไป
อีกหลายที่
มาบ้านเขาก็ต้องไปไหว้ศาลหลักเมืองเสียก่อน ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองและเสาหลักเมืองสมุทรสาครไม่ไกลจากสถานีรถไฟเลย เดิน 5 นาทีก็ถึง ด้าน
หน้าเป็นศาลเจ้าพ่อหลักเมืองหรือเจ้าพ่อวิเชียรโชติ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทีชาวมหาชัยให้ความเคารพนับถือ ชาวประมงที่จะออกเรือไปหาปลาจะต้องมา
ทำพิธีสักการะบูชาและจุดประทัดที่หน้าศาลนี้ ด้านหลังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นเสาหลักเมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นเสาหลักเมืองที่สูงที่สุดในประเทศไทย
ด้วย
เดินเลยไปหน่อยคือวัดป้อมวิเชียรโชติการามหรือวัดป้อมเป็นวัดเก่าแก่ที่คาดว่าสร้างมาแล้วประมาณ 200 กว่าปี ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นและ
ตั้งชื่อตามหมู่บ้านในย่านนั้นหรือสร้างพร้อมกับป้อมปราการริมแม่น้ำชื่อป้อมวิเชียรโชฎก วัดนี้เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของมหาชัยเลยครับ อยู่ใกล้ๆศาลเจ้าพ่อ
หลักเมืองด้วย ไหว้พระเอาบุญเสียหน่อย
เดินกลับมาที่ท่าเรือ จ่ายเงิน 3 บาทแล้วเดินขึ้นเรือได้เลยเรือข้ามฟากไปท่าฉลอมยังคงได้รับความนิยมจากชาวมหาชัยในการข้ามฟากไปท่าฉลอม
เพราะนั่งเรือข้ามแค่ไม่ถึง 3 นาทีก็ถึงท่าฉลอมแล้ว แต่ถ้าจะเอารถไปต้องอ้อมไปอีกหลายกิโลเมตร
ชั่วอึดใจเดียวเราก็มาโผล่ที่ท่าฉลอม สุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย มีบันทึกเหตุการณ์ไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำรัสในวันประชุมเสนาบดี ภายหลังเสด็จประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดงในปัจจุบัน) ว่า "โสโครกเหมือนตลาดท่าจีน"
(ท่าฉลอมในปัจจุบัน) ทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีหนังสือตราราชสีห์น้อยถึงผู้ว่าราชกาลเมืองสมุทรสาคร เป็นที่มาของ
การที่ประชาชนและพ่อค้าในตำบลท่าฉลอมร่วมใจกันสละเงินรวมห้าพันกว่าบาท ทำถนนปูอิฐ และทำความสะอาดตำบลท่าฉลอม วันที่ 9 มีนาคม
พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ตั้งเป็นสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศไทย และวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2448 ทรงเสด็จพระราช
ดำเนินมาเปิดถนนเส้นนี้และพระราชทานนามว่า "ถนนถวาย" และวันที่ 18 มีนาคม ของทุกปีเป็นวัน "ท้องถิ่นไทย"
ใครมาเที่ยวท่าฉลอม แนะนำให้แวะมาที่นี่ก่อนครับ "บ้านท่าฉลอม" ออกจากท่าเรือข้ามฟากแล้วเลี้ยวขวามาไม่ไกล บ้านท่าฉลอมอายุกว่า 50 ปี
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2506 เจ้าของบ้านประกอบอาชีพประมงและขายปลา มีเรือและแพปลา ปัจจุบันเจ้าของเดิมย้ายไปอยู่ที่มหาชัยและได้เปิดบ้านหลังนี้เป็น
ศูนย์ข้อมูลการท่องเที่ยวและกิจกรรมชุมชนของท่าฉลอม ซึ่งเข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายในมีข้อมูล ประวัติ และอะไรให้ดูเยอะเลย นอกจากนั้นยังมี
จักรยานให้เช่า ของที่ระลึกและหนังสือแผ่นพับข้อมูลเกี่ยวกับท่าฉลอม ซึ่งทำออกมาได้ดีมากๆ บ้านท่าฉลอมปิดทุกวันพุธนะครับ
ได้คู่มือการเที่ยวแล้วก็ไปกันต่อเลยครับ จุดหมายต่อไปคือวัดแหลมสุวรรณาราม เดิมชื่อ "วัดหัวบ้าน" เพราะตั้งอยู่ต้นถนนถวาย ไม่แน่ชัดว่าสร้างตั้ง
แต่เมื่อใด แต่มีหลักฐานเกี่ยวกับวัดนี้ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในวัดมีอุโบสถไม้ศิลปะจีนผสมไทย รอบพระอุโบสถมีพระพุทธรูป 18 องค์เรียกว่า 18 อรหันต์
ด้านติดแม่น้ำมีพระพุทธรูปปางทรมานพญาชมพูบดี ชื่อสมเด็จองค์พระปฐม สมเด็จพระพุทธสิขีจักรพรรดิมุนีสัมพุทธชยันตี องค์พระปฐมที่ท่าฉลอมนี้
เป็นหนึ่งใน 9 องค์ที่สร้างขึ้นทั่วประเทศในพื้ันที่ที่รัชกาลที่ 5 เคยเสด็จประพาส
เลยวัดแหลมไปหน่อยจะเป็นสถานีรถไฟบ้านแหลม เป็นรถไฟที่ไปสุดสายที่ตลาดร่มหุบสมุทรสงคราม ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ดังนั้นจาก
กรุงเทพสามารถใช้วิธีนั่งรถไฟไปถึงแม่กลองได้เลย แต่ต้องข้ามเรือมาท่าฉลอมหน่อย รถไฟสายบ้านแหลมมีอายุกว่า 100 ปีเดินรถครั้งแรกตั้งแต่สมัย
รัชกาลที่ 5 เป็นสายรถไฟที่ไม่เชื่อมต่อกับใครเลย
ย้อนกลับมาที่ถนนถวาย จากนี้เราจะเดินดูบ้านและอาคารประวัติศาสตร์ที่อยู่ตามถนนเส้นนี้ บ้านทั้งหมดยังใช้งานอยู่และมีคนอาศัยอยู่ ดังนั้นดูได้แต่
ภายนอกนะครับ เริ่มกันเลย
แวะป้ายแรกที่โรงเรียนสาครวิทยา อายุกว่า 70 ปีอาคารสีฟ้าอ่อนสวยงาม เดิมโรงเรียนนี้ชื่อ "โรงเรียนป้วยไช้" ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน ปัจจุบัน
ไม่มีการเรียนการสอนที่นี่แล้ว โรงเรียนปิดตัวไปตั้งแต่ พ.ศ.2553
อีกโรงเรียนที่ดูได้แต่ด้านนอก แหงล่ะเล่นอยู่กลางป่าซะขนาดนั้น โรงเรียนนี้ชื่อ โรงเรียนทัศนะธรรมวิทยา อายุกว่า 60 ปี ชื่อโรงเรียน "ทัศนธรรม"
มาจากนามสกุลของเจ้าของโรงเรียน ด้านบนป้ายชื่อโรงเรียนมีรูปปูนปั้นรูปพระพรหม ซึ่งเป็นตราประจำโรงเรียน โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนเอกชนแห่งแรกของ
สมุทรสาครด้วย ปิดตัวไปตั้งแต่ พ.ศ.2532
เสร็จแล้วก็เที่ยวบ้านกัน หลังแรกคือบ้านพงษ์พานิช อายุกว่า 80 ปี บ้านประดับด้วยไม้ฉลุลวดลายแบบจีนผสมฝรั่ง ซุ้มประตูหน้าบ้านมีหลังคาจั่ว
ทรงไทย
บ้านศรีจันทร์ อายุกว่า 100 ปีเป็นบ้านชั้นเดียวหลังคาปูด้วยกระเบื้องเรียกว่ากระเบื้องว่าว เดิมเป็นบ้านหลังคาจากของช่างทำทอง ต่อมาได้ร่อนทอง
ที่ตกอยู่ตามพื้นบ้านแล้วนำไปขาย จึงได้เงินมาปลูกบ้านขึ้นใหม่
บ้านศิลาสุวรรณ สีเขียวโดดเด่นมองเห็นแต่ไกล อายุกว่า 90 ปีเป็นบ้านไม้สักทองทั้งหลัง เดิมเป็นบ้านไม้เรือนไทยแบบยกใต้ถุนสูงสร้างเมื่อ
พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 ต่อมาได้บูรณะจนเป็นสภาพเหมือนปัจจุบัน แบบบ้านได้รับแรงบันดาลใจจากแบบพระที่่นั่งวิมานเมฆ
ล้งกะปิ เป็นเรือนไม้หลังคามุงจากอายุกว่า 60 ปี ปัจจุบันยังใช้งานอยู่เป็นกิจการกะปิและสัตว์น้ำแปรรูป
ล้งลุงประกิต เรือนไม้หลังคามุงจากอีกหลังที่ดูคล้ายๆล้งกะปิ อายุกว่า 100 ปี เคยเป็นล้งแปรรูปสัตว์น้ำมาก่อนแต่ปัจจุบันเลิกกิจการไปแล้วจึงใช้เป็น
แค่ที่อยู่อาศัย เชือกบนหลังคามีไว้ทับจากไม่ให้หลุด
ตึกแถวบริเวณตลาดสดเทศบาล เป็นอาคารพาณิชย์ชุดแรกๆ อายุกว่า 50 ปี ในอดีตบริเวณนี้เป็นจุดศูนย์กลางของท่าฉลอม มีทั้งโรงหนัง โรงฝิ่น
สถานีตำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2500 เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ จึงสร้างบ้านเรือนขึ้นมาใหม่แทนของเดิมที่ถูกไฟไหม้ไป
เนื่องจากท่าฉลอมเป็นชุมชนชาวจีนเก่าแก่จึงมีโรงเจและศาลเจ้าอยู่หลายแห่ง เช่น ศาลเจ้าปุนเท้ากง ศาลเจ้าพ่อกวนอู ศาลเจ้าแม่จุ๊ยบ๋วยเนี้ย
สามารถเดินชมได้ตามสะดวก
เดินดูจนขาเริ่มลากแล้วก็ใกล้เที่ยง นั่งเรือข้ามฟากกลับมาทานข้าวที่ร้าน "บ้านริมน้ำ" ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ เดินจากท่าเรือข้ามฟากมาประมาณ 2-3 ร้อย
เมตร วิวในร้านดีใช้ได้ อาหารมีทั้งที่ราคาสูงกว่าร้านอื่นๆในมหาชัยและที่ราคาใกล้เคียงกัน เราสั่งมา 1 ชุด จานที่ชอบที่สุดคือหลนเนื้อปู เนื้อปูเต็มถ้วย
ตักไปได้แต่เนื้อปูเต็มๆคำ รสชาติหวานนุ่มนวลด้วยกะทิ กินง่าย จบมื้อนี้แวะซื้อของติดไม้ติดมือกลับบ้าน เป็นอันปิดทริปแบบวันเดียวจบที่ครบเครื่อง
จริงๆ...ถ้ามีเวลาไม่มาก ลองนั่งรถไฟมาเที่ยวที่นี่ดูครับ มีอะไรมากกว่าที่คิดจริงๆ สวัสดีครับ
22 พ.ค. 2562
3 ต.ค. 2562